เสียงแตกตั้งองค์กรอิสระ คุมสหกรณ์ออมทรัพย์

UploadImage

                    รัฐบาลพยายามล้อมคอกป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสหกรณ์ออมทรัพย์ล้ม หรือนำเงินฝากของสมาชิกไปใช้อย่างไม่เหมาะสม รวมทั้งจะวางรากฐานที่ผลักดันให้สหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดใหญ่เป็นธนาคารสหกรณ์ เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญแก่สมาชิกโดยมีแนวคิดที่จะออกกฏหมายมาควบคุมสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนขนาดใหญ่ที่มีสินทรัพย์เกิน 5,000 ล้านบาท โดยอยู่ระหว่างการระดมความเห็นการจัดทำร่างกฎหมาย ดังกล่าว โดยมี กอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสักนักนายกรัฐมนตรี เป็นหัวเรือใหญ่ที่จัดทำร่างกฎหมายนี้ ที่จะวางระบบสหกรณ์ให้มีความแข็งแกร่ง
                ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการกำกับกิจการสหกรณ์การเงินขนาดใหญ่ พ.ศ. ... เป็นกฎหมายที่จะมาเสริมพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 ที่จะกำกับดูแลเฉพาะสหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดใหญ่ที่มีสินทรัพย์ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป ที่มีอยู่ประมาณ 134 แห่ง สินทรัพย์รวมประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนที่มีนัยสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ และมีการระดมเงินฝากจากสมาชิกจำนวนมาก
                เหตุหนึ่งที่จะต้องมีองค์กรกำกับดูแลสหกรณ์ เพราะปัจจุบันมีสหกรณ์การเงินหลายแห่งที่ดำเนินกิจการนอกเหนือไปจากอุดมการณ์และหลักการของความเป็นสหกรณ์ ประกอบกับมาตรการการกำกับดูแลการดำเนินการและธุรกรรมทางการเงินของสหกรณ์การเงินขนาดใหญ่ บางแห่งยังขาดความเข้มงวด เปิดโอกาสให้สหกรณ์การเงินขนาดใหญ่บางแห่งทำธุรกรรมที่มีความเสี่ยงสูง โดยที่ผู้บริหารขาดความรู้ความเชี่ยวชาญในการบริหารความเสี่ยงทางการเงิน หรือมีการทุจริตในการดำเนินการ ส่งผลให้เกิดความเสียหายและผลกระทบในวงกว้าง ดังเช่นกรณีของสหกรณ์หลายแห่งที่ประสบปัญหาทางการเงินจนเป็นผลให้สมาชิกและผู้ฝากเงินได้รับความเดือดร้อน
                นอกจากนี้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์การเงินขนาดใหญ่ที่ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ จึงควรกำหนดมาตรการส่งเสริมเพื่อให้สหกรณ์การเงินขนาดใหญ่เติบโตอย่างยั่งยืน สร้างความเชื่อมันให้กับสมาชิกและสร้างเสถียรภาพ ความมั่นคง และการเจริญเติบโตให้กับเศรษฐกิจของประเทศ
                กอบศักดิ์ กล่าวว่า หัวใจสำคัญร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ จะมีการจัดตั้งองค์กรเฉพาะที่มัความรู้ความเชี่ยวชาญในการกำกับดูแลและกำหนดมาตรฐานการดำเนินงานของสหกรณ์การเงินขนาดใหญ่ รวมทั้งมีการจัดตั้งกองทุนประกันเงินฝากสหกรณ์

 UploadImage
 

                 อย่างไรก็ตาม จากการระดมความเห็นมีความคิดต่าง 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเห็นควรมีคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดใหญ่แยกออกไปต่างหาก อีกกลุ่มเห็นว่าควรอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 ซึ่งยังสามารถดูแลสหกรณ์ได้ดีอยู่ 
                อีกประเด็นหนึ่งที่มีการถกเถียง คือการจัดตั้ง“กองทุนคุ้มครองเงินฝาก”ของ “สมาชิกสหกรณ์”โดยจะเก็บจากสหกรณ์ 0.7%ของเงินรับฝาก รองรับกรณีหากมีสหกรณ์ใดต้องล้มเลิกกิจการ สมาชิกจะได้รับความคุ้มครองบัญชีละไม่เกิน 1ล้านบาท แต่จะไม่รวมการลงทุนในหุ้นสหกรณ์ของสมาชิก อย่างไรก็ดีจะไม่คุ้มครองสมาชิกของสหกรณ์ที่มีทุนดำเนินการต่ำกว่า 5,000ล้านบาท ซึ่งเป็นเหตุให้มีผู้เสนอว่าไม่ควรแยกสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนเฉพาะรายใหญ่เท่านั้น
                 ด้าน จุมพล พูลภัทรชีวิน ประธานสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับร่างดังกล่าว โดยที่สมาชิก 99.99%ไม่เห็นด้วยกับร่างนี้ และพร้อมจะเดินขบวนต่อต้าน เพราะร่างนี้ออกมามีการแต่การกำกับ ไม่มีการส่งเสริม และไม่ทราบว่ามีวาระซ่อนแร้นหรือไม่ จะให้หน่วยงานอื่นมาดูแลแทนหรือไม่
                ทั้งนี้ เห็นว่าควรไปแก้ไขเพิ่มเติมให้มีการกำกับและส่งเสริมในร่าง พ.ร.บ.เดิมปี 2542 ดังนั้น เห็นว่าไม่ควรจะออกมาทับซ้อนกับกฎหมายเดิม และเป็นการเอาพฤติกรรมของบางสหกรณ์ที่เกิดจากตัวบุคคลมาใช้แก้ไขกับสหกรร์ทั้งหมด เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง
                อย่างไรก็ตาม แต่ละฝ่ายมีความเห็นที่แตกต่างได้ แต่จะต้องไปสู่จุดหมายเดียวกันที่จะทำให้สหกรณ์ออมทรัพย์เข้มแข็ง และดำเนินการอย่างทุจริตโปร่งใสอย่างมืออาชีพ เป็นแหล่งเงินทุนสำหรับสมาชิก พร้อมกับส่งเสริมระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้

 
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : สทส.สำนักงานถ่ายทอดฯ