“ E-CO-OP สหกรณ์ออมทรัพย์อิเลคทรอนิกส์ ” นวัตกรรมแห่งอนาคต 2

นวัตกรรม (Innovation) หมายถึง การกระทำที่เป็นผลของการนำกรอบแนวคิดใหม่ วิธีการใหม่ หรือประดิษฐกรรมใหม่ (Invention) สามารถใช้ประโยชน์โดยนำไปปฏิบัติจริงเป็นครั้งแรก ณ สังคมหรือประชาคมหนึ่ง อันจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงของสังคมนั้น ทั้งในด้านของการพัฒนาที่ดีขึ้น และในขณะเดียวกันยังนำมาซึ่งความไม่แน่นอน และความเสี่ยงสู่สังคมนั้นด้วย ดังนั้น การดำเนินโครงการ หรือกิจกรรมที่เป็นนวัตกรรมใดๆ ก็จะต้องมีการพิจารณาและการศึกษาข้อมูลรายละเอียดอย่างครบถ้วนรอบคอบ มีการประเมินผลและความคุ้มค่าเป็นระยะ รวมทั้งการนำไปใช้อย่างถูกต้องสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของแต่ละสังคม เพื่อให้เหมาะสมกับความจำเป็นของสังคมหรือชุมชน และที่สำคัญจะต้องสอดคล้องกับทิศทางหรืออุดมการณ์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ด้วย 


 

ในบทความนี้ เราจะมาพูดกันต่อในเรื่องของ E - CO-OP “ สหกรณ์ออมทรัพย์อิเลคทรอนิกส์ ” นวัตกรรมแห่งอนาคต ที่มีผลต่อการดำเนินงานของสหกรณ์ทุกรูปแบบ รวมไปถึงสมาชิกผู้ใช้บริการทั่วไปด้วย โดยสาระสำคัญจะกล่าวถึง ขั้นตอนการพัฒนาสู่ E - CO-OP ที่จะต้องมีการกำหนดกลยุทธ์หรือขั้นตอนการพัฒนาให้เหมาะสม เพื่อสนับสนุนให้การดำเนินงานไปสู่เป้าหมายได้ในที่สุด โดยมีขั้นตอนตามกรอบความคิด ตัวแบบ 7S ของแมคคินเซย์ (McKinsey’s 7s) ซึ่งก็คือ การปรับตัวแปรสำคัญในการบริหารองค์กร 7 ประการให้สนับสนุนและสอดคล้องซึ่งกันและกัน เพื่อผลักดันให้นวัตกรรมบรรลุเป้าหมาย ได้แก่


1. การกำหนดกลยุทธ์ (Strategy) การวางกลยุทธ์ของสหกรณ์และขั้นตอนการพัฒนานวัตกรรมหรือบริการแต่ละประเภท ให้สอดคล้องสนับสนุนซึ่งกันและกัน เป็นสิ่งแรกที่ผู้บริหารจำเป็นต้องให้ความสำคัญ เพราะกลยุทธ์ก็คือตัวกำหนดทิศทางการดำเนินงานที่จะส่งผลเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องไปยังวิธีการดำเนินการต่างๆ ในขั้นต่อไป


2. โครงสร้างองค์กร (Structure) หลังจากมีการกำหนดนโยบายหรือกลยุทธ์การทำงานแล้วนั้น จึงต้องนำกลยุทธ์เหล่านั้นมาปรับเปลี่ยนโครงสร้างตำแหน่งหน้าที่และการทำงานองค์กรของสหกรณ์ โดยเฉพาะฝ่ายจัดการ อาจต้องมีการปรับปรุง โดยเชื่อมโยงหน้าที่ให้ต่อเนื่องกันอย่างเป็นขั้นตอนตามลักษณะของนวัตกรรมที่เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันก็อาจนำโครงสร้างแบบเมตริกซ์ (Matrix) มาใช้เพื่อช่วยให้บางนวัตกรรม ให้สามารถนำมาปฏิบัติได้อย่างรวดเร็วและง่ายขึ้นโดยไม่เพิ่มกำลังคน


3. ระบบงาน (System) การปรับปรุงขั้นตอนการปฏิบัติงาน การปรับปรุงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ระบบการควบคุมภายใน ซึ่งทุกๆ นวัตกรรมใหม่ที่ต้องปฏิบัติเพิ่มขึ้น จะต้องมีส่วนช่วยลดขั้นตอนและเวลางานในระบบงานเดิมให้ลดน้อยลง หรือไม่ทำให้ระบบเดิมเสียหาย สมาชิกได้รับบริการใหม่ที่สะดวกรวดเร็วขึ้น งานเดิมบางประเภทอาจต้องยกเลิกไป ระบบงานของนวัตกรรมใหม่จะต้องสอดประสานกันอย่างกลมกลืนเป็นลูกโซ่ และเชื่อมโยงกับระบบงานเดิมอย่างกลมกลืน ทั้ง การกู้ การฝาก การขอรับเงินสวัสดิการต่างๆ เป็นต้น


4. บุคลากร (Staff) การจัดการทรัพยากรบุคคล การสร้างทีมงานเพื่อรองรับนวัตกรรม สร้างแรงจูงใจและขวัญกำลังใจให้แก่ทีมงาน รวมถึงการจัดคนให้เหมาะสมกับงานและสอดคล้องกับกลยุทธ์และนวัตกรรมใหม่ และการพัฒนาทักษะและขีดความสามารถในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ การฝึกอบรมและเพิ่มหน้าที่ความรับผิดชอบให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้หลากหลายด้านมากขึ้น มีทักษะความสามารถทั้งเรื่องระบบการให้บริการของสหกรณ์ ระบบเทคโนโลยี ระบบเครือข่าย และคอมพิวเตอร์ เพื่อช่วยให้เรียนรู้และปฏิบัติหน้าที่ตามนวัตกรรมได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


6. ค่านิยมร่วม (Shared Values) และ แบบแผนพฤติกรรม (Style) เป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรม และค่านิยมร่วมของคนในองค์กร ตั้งแต่สมาชิก ผู้แทนสมาชิก คณะกรรมการดำเนินการ และเจ้าหน้าที่สหกรณ์ ความเชื่อมั่นและทัศนะคติที่ดีต่อนวัตกรรมแต่และประเภท เพราะนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะเข้ามา ย่อมส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้บริการของสมาชิกด้วย การอำนวยการของกรรมการ และการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในที่สุด เช่น การใช้โทรศัพท์ การใช้ ATM และการใช้อินเตอร์เน็ต เป็นต้น


( ขอบคุณข้อมูลประกอบจาก : สหกรณ์ออมทรัพย์กรมป่าไม้ จำกัด  http://www.025798899.com/2011/article_detail.php?article_id=25 )