ในความแตกต่าง ระหว่าง สหกรณ์และห้างหุ้นส่วน/ บริษัท จำกัด

แม้ว่าสหกรณ์จะมีลักษณะเป็นสถาบันการเงินระดับย่อย และมีการดำเนินงานบางส่วนคล้ายกับองค์กรธุรกิจรูปแบบอื่นในแง่การรวมทุน การลงทุน และการประกอบธุรกิจซื้อ-ขาย แต่ก็ยังมีหลักการและรายละเอียดที่แตกต่างกันหลายประการกับองค์กรรูปแบบอื่นอย่างเช่น ห้างหุ้นส่วน/ บริษัท จำกัด ดังตัวอย่างในตารางเปรียบเทียบด้านล่าง
 

ความแตกต่าง สหกรณ์ ห้างหุ้นส่วน/ บริษัท จำกัด
1. วัตถุประสงค์ ดำเนินธุรกิจและบริการเพื่อช่วยเหลือสมาชิก
ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ
ดำเนินธุรกิจเพื่อการค้า ทำธุรกิจกับบุคคลภายนอก
เพื่อแสวงหากำไรให้มากที่สุด 
2. ลักษณะการรวมกัน มุ่งเน้นด้านการรวบรวมคนมากกว่าทุน มุ่งเน้นด้านการรวบรวมทุน ต้องการทุนในการดำเนินงานมากกว่า
3. หุ้นและมูลค่าหุ้น ราคาหุ้นคงที่และมีอัตราต่ำ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถือหุ้นได้
และหุ้นมีไม่จำกัดจำนวน  
ราคาหุ้นเปลี่ยนแปลงตามฐานะของกิจการ และจำนวนหุ้นมีจำกัด 
4. การควบคุม และการออกเสียง ควบคุมตามแบบประชาธิปไตย สมาชิกออกเสียงได้คนละหนึ่งเสียง
(ยกเว้นระดับชุมนุมสหกรณ์) และออกเสียงแทนกันไม่ได้
ออกเสียงได้ตามจำนวนหุ้นที่ถือและออกเสียงแทนกันได้
5. การแบ่งกำไร จะแบ่งกำไรตามความมากน้อยของการทำธุรกิจกับสหกรณ์
และจำนวนหุ้นที่ถือ
การแบ่งกำไร แบ่งตามจำนวนหุ้นที่ถือ ถือหุ้นมากได้เงินปันผลคืนมาก


รายละเอียดความแตกต่างระหว่าง สหกรณ์ VS ห้างหุ้นส่วน/บริษัทจำกัด

1. วัตถุประสงค์ สหกรณ์มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้บริการและช่วยเหลือแก่สมาชิกสหกรณ์เป็นส่วนใหญ่ แต่บริษัทจำกัดและห้างหุ้นส่วนอื่นๆ จัดตั้งขึ้นเพื่อทำการค้ากับบุคคลภายนอกและเน้นผลกำไรขงผู้บริหารเป็นที่ตั้ง

2.ลักษณะการรวม สหกรณ์เป็นองค์กรของผู้มีกำลังทรัพย์น้อย ไม่อาจถือเอาทุนเป็นหลักในการรวมได้ สหกรณ์ถือว่าการรวมคนเป็นหลักสำคัญ และเพื่อให้กลุ่มคนที่รวมกันมีกำลังเข้มแข็ง สหกรณ์จึงต้องมีการกำหนดและคัดเลือกลักษณะตลอดจนคุณสมบัติของสมาชิกที่จะเข้าร่วมในสหกรณ์ ส่วนในบริษัทจำกัดและห้างหุ้นส่วนนั้นถือหลักการรวมทุนเป็นสำคัญ บุคคลทีมีเงินสามารถเข้าถือหุ้นของบริษัทได้ ไม่เลือกว่าบุคคลนั้นจะมีลักษณะอย่างไร การรวมกันในสหกรณ์ เป็นการรวมที่เน้นสมาชิกซึ่งค่อนข้างอ่อนกำลังทรัพย์ให้เข้มแข็งขึ้น และเพื่อไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ ส่วนการรวมกันของบริษัทจำกัด หรือห้างหุ้นส่วน เป็นการรวมผู้ที่มีกำลังทรัพย์เข้มแข็งมากอยู่แล้ว ให้มีกำลังเพิ่มยิ่งขึ้น เพื่อทำการค้าหากำไร

3. หุ้นและมูลค่าหุ้น หุ้นของสหกรณ์ไม่มีกฎหมายบังคับว่าจะต้องกำหนดจำนวนทุนเรือนหุ้นไว้ก่อนที่จะจดทะเบียนเป็นสหกรณ์ ดังนั้น สหกรณ์จึงมีหุ้นที่จะจำหน่ายให้แก่สมาชิกใหม่อยู่เสมอ ราคาหุ้นของสหกรณ์จะคงที่ มูลค่าหุ้นของสหกรณ์ มักกำหนดไว้ค่อนข้างต่ำเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีกำลังทรัพย์น้อยเข้าเป็นสมาชิกได้ สำหรับหุ้นของบริษัทจำกัด กฎหมายบังคับให้ต้องกำหนดจำนวนทุนเรือนหุ้น และต้องมีผู้จองหุ้นไว้ครบจำนวนก่อนขอจดทะเบียนตั้งขึ้นเป็นบริษัทด้วยเหตุนี้ ถ้ากิจกรรมของบริษัทสามารถจ่างเงินปันผลได้สูง ก็จะมีผู้ต้องการซื้อหุ้นของบริษัท มูลค่าก็อาจขึ้นลงได้เหมือนสินค้าอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ มูลค่าหุ้นของบริษัทมักกำหนดไว้สูงเพื่อให้เงินทุนตามจำนวนที่ต้องการโดยคนถือหุ้นจะมีจำนวนมากหรือน้อยไม่ถือเป็นข้อสำคัญ

4. การควบคุมและการออกเสียง สหกรณ์ถือหลักการรวมคนจึงให้ความเคารพต่อสิทธิของบุคคลเป็นสำคัญ ด้วยเหตุนี้สมาชิกของสหกรณ์ทุกคนไม่ว่าจะถือหุ้นมากหรือน้อยย่อยมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนให้สหกรณ์ได้คนละหนึ่งเสียงเหมือนกัน ยกเว้นผู้แทนสหกรณ์ในระดับชุมนุมสหกรณ์อาจให้มีเสียงเพิ่มขึ้นตามระบบสัดส่วนตามที่กำหนดในมาตรา 106 ข้อบังคับของชุมนุมสหกรณ์ก็ได้ และสมาชิกต้องมาใช้สิทธิออกเสียงด้วยตนเอง จะมอบให้บุคคลอื่นมาออกเสียงแทนไม่ได้ ดังนั้น อำนาจในสหกรณ์จึงตกอยู่กับเสียงข้างมากของสมาชิก ส่วนบริษัทจำกัดและห้างหุ้นส่วน ซึ่งถือหลักการรวมทุนจึงให้ความเคารพในเงินทุนค่าหุ้นเป็นสำคัญ โดยการให้สิทธิออกเสียงตามจำนวนหุ้นที่ถือ และยังสามารถมอบให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดมาออกเสียงแทนได้ อำนาจในบริษัทจึงตกอยู่กับผู้ถือหุ้นมาก

5. การแบ่งกำไร จากการที่สมาชิกทำธุรกิจซื้อขายกับสหกรณ์จึงทำให้เกิดกำไรหรือเงินส่วนเกินขึ้น ดังนั้นการแบ่งกำไรของสหกรณ์จึงเท่ากับการจ่ายคือส่วนที่สหกรณ์รับเกินให้สมาชิกในรูปการจ่ายเงินเฉลี่ยคืน ตามส่วนแห่งปริมาณธุรกิจที่สมาชิกทำกับสหกรณ์และจำนวนหุ้นที่ถือ สำหรับบริษัทจำกัดจะทำการติดต่อซื้อขายกับบุคคลภายนอกสมาชิกบริษัทลงทุนถือหุ้นในบริษัทจำกัด หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด จึงถือหลักการแบ่งเงินปันผลตามหุ้นที่ถือ ไม่ได้คำนึงถึงว่าผู้ถือหุ้นจะมีการติดต่อซื้อขายกับบริษัทหรือไม่


(ขอบคุณข้อมูลจาก : สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย)