วันเครดิตยูเนี่ยนไทย

ความเป็นมาวันเครดิตยูเนี่ยนไทย

    บาทหลวงอัลเฟรด บอนแนงค์ บาทหลวงในศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก ชาวฝรั่งเศส ผู้ริเริ่มก่อตั้งคณะพลมารี ซึ่งเป็นกลุ่มกิจกรรมของศาสนาคริสต์ ท่านได้เข้ามาอยู่ในประเทศไทย และทำงานอยู่กับคนยากจนในสลัมต่างๆ ของกรุงเทพฯมหานคร ท่านทำงานกับทุกคนโดยไม่แบ่งชนชั้น วรรณะ และศาสนา

    สลัมห้วยขวาง (ดินแดง-ประชาสงเคราะห์ ในปัจจุบัน) เป็นจุดกำเนิดของขบวนการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนในเมืองไทย โดยหลังจากเริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจจากคนทั่วไป บาทหลวงอัลเฟรด บอนแนงค์ ได้ส่ง คุณอัมพร วัฒนวงศ์ ไปศึกษาในด้านของการพัฒนาคนและชุมชนที่ สถาบันเซียร์โซลิน มหาวิทยาลัยเซเวียร์ ประเทศฟิลิปปินส์ แผนกที่ศึกษานั้นสอนเรื่องการพัฒนาคนโดยวิธีการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ทั้งนี้ก็เพื่อให้คุณอัมพร ได้กลับมาทำงานกับคนในชุมชนสลัมห้วยขวางต่อไป

    บาทหลวงอัลเฟรด บอนแนงค์ ได้ทุ่มเทชีวิตของท่าน ในการทำงานกับคนยากจน และมีแนวคิดเสมอว่าการให้ความช่วยเหลือ โดยที่ชาวบ้านในชุมชนคอยรับการช่วยเหลือเพียงอย่างเดียวนั้น เป็นความคิด และวิธีการปฏิบัติตนที่ไม่ถูกต้อง เป็นการทำลายศักดิ์ศรีของความเป็นคนมากกว่า จากนั้น บาทหลวงฯ จึงให้ชาวบ้านในชุมชนนั้นมารวมตัวกันช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยวิธีการสอนให้รู้จักการเก็บออมเงิน เพื่อช่วยเหลือกันในรูปแบบเครดิตยูเนี่ยน จึงเกิดเป็นกลุ่มเครดิตยูเนี่ยนแห่งแรกขึ้น จากคนที่มารวมกลุ่มกันเพียง 13 คน อาศัยเงินทุนในการรวมกันครั้งแรก จำนวน 360 บาท ใช้ชื่อว่า “กลุ่มเครดิตยูเนี่ยนแห่งศูนย์กลางเทวา” ก่อตั้งเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2508

    ขบวนการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนในเมืองไทย จึงกำหนดให้วันนี้ เป็นวัน “เครดิตยูเนี่ยนไทย” และนับได้ว่า บาทหลวงอัลเฟรด บอนแนงค์ คือ บิดาแห่งเครดิตยูเนี่ยนไทย โดยแท้จริง 
 

UploadImage
 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย