เปิดโครงสร้างการเงิน “ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์” สภาพคล่องยังเข้มแข็ง

UploadImage
นายพิเชษฐ วิริยะพาหะ อธิบดี กรมส่งเสริมสหกรณ์

     เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2561 นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดี กรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวถึงกระแสข่าวในช่วงเช้าที่ปรากฏในสื่อทั้งไทยรัฐ กรุงเทพธุรกิจ และประชาชาติธุรกิจ ที่เกี่ยวกับปัญหาสภาพคล่องและฐานะการเงินของ “ชุมนมสหกรณ์ออมทรัพย์” ว่ากำลังอยู่ในขั้นวิกฤติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินสด การลงทุนในหุ้นกู้เอกชน การผิดชำระหนี้ของสมาชิกจนเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ว่าตนไม่ได้เป็นผู้ให้ข่าวแต่อย่างใด และรายละเอียดมีความคลาดเคลื่อนในหลายประเด็น วันนี้ช่วงบ่ายจึงออกมาชี้แจงข้อเท็จโดยให้ทางชุมนุมสหกรณ์เป็นผู้ให้รายละเอียด

ชี้สหกรณ์ออมทรัพย์เข้มแข็ง สำรองกว่าหมื่นล้าน
     นางประภาษร ทิพย์ดี รองผู้จัดการใหญ่ (สายธุรกิจ) ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด ( ชสอ. ) กล่าวว่าเรื่องสภาพคล่องจากการคำนวณประมาณการกระแสเงินสดหรือสภาพคล่องที่ต้องดำรงไว้ ประกอบด้วยเงินสดและวงเงินกู้คงเหลือจากธนาคาร พบว่าในกรณีเลวร้ายสุดจะมีเงินสดรับน้อยสุดที่ 8.5 ล้านบาทต่อเดือน ขณะที่มีรายจ่ายสูงสุด 4,374.69 ล้านบาทต่อเดือน และทำให้ต้องสำรองเงินไว้ขั้นต่ำ 4,366.19 ล้านบาทต่อเดือน และเมื่อเทียบกับเงินรับฝากและตั๋วสัญญาใช้เงินเฉลี่ย 3 ปี ตั้งแต่ปี 2558-2560 ที่ 71,755.36 ล้านบาท ทำให้ ชสอ. จะต้องสำรองเงินสภาพคล่องไว้อย่างน้อย 6.08% ของเงินรับฝากและตั๋วสัญญาใช้เงิน
     “อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเราตั้งเกณฑ์สำหรับการบริหารทางการเงินเอาไว้ให้ไม่ต่ำกว่า 8% และมีระดับสัญญาณเตือนภัย 4 ระดับ แบ่งเป็นมีปัญหาสภาพคล่องขั้นต้นเมื่อมีสภาพคล่องระหว่าง 5.95-8% ขั้นปานกลางตั้งแต่ 3.68-5.94% ขั้นรุนแรงตั้งแต่ 1.4-3.67% และขั้นรุนแรงมากหากต่ำกว่า 1.4% ซึ่งสถานะในปัจจุบัน ณ วันที่ 5 กันยายน 2561 เรามีเงินสด 1580.23 ล้านบาท และวงเงินกู้ธนาคารคงเหลืออีก 8244.17 ล้านบาท รวมกันเป็น 9,824.4 ล้านบาท คิดเป็น 11.86% ของเงินรับฝากและตั๋วสัญญาใช้เงินของชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ เกินกว่าเกณฑ์ 8% ที่ตั้งไว้” นางประภาษรกล่าว
     ทั้งนี้ ชสอ. ก็ได้ออกแนวทางการปฏิบัติหากระดับสภาพคล่องต่ำกว่าเกณฑ์เอาไว้แล้ว เพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นชะลอการใช้เงินกู้แก่สมาชิก ขายตราสารทุนและตราสารหนี้ ทบทวนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและจัดกิจกรรมส่งเสริมการฝาก และขอเพิ่มวงเงินกู้จากธนาคาร
     ขณะที่เกณฑ์การกำกับของกรมส่งเสริมสหกรณ์ตามกฎกระทรวงได้ระบุว่าสหกรณ์จะต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง 1% ของยอดเงินฝากรายเดือน (ประกอบด้วยเงินสด, เงินฝากที่ชุมนุมสหกรณ์หรือธนาคาร, บัตรเงินฝากที่ออกโดยธนาคารซึ่งมีระยะไม่เกิน 1 ปี, หลักทรัพย์ของรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน, พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย, ตั๋วสัญญาใช้เงินที่ออกโดยชุมนุมสหกรณ์ บริษัทเงินทุนหรือเครดิตฟองซิเอร์ที่มีระยะเวลาก่อนถึงกำหนดใช้เงินน้อยกว่า 1 ปี รวมไปถึงกองทุนเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินประกันการใช้เงิน, ตั๋วแลกเงินหรือตั๋วสัญญาใช้เงินที่ธนาคารรับรอง สลักหลัง รับอาวัล โดยไม่มีข้อจำกัดความรับผิดธนาคาร สินทรัพย์อื่นที่รัฐมนตรีกำหนด)
     ทั้งนี้ ปัจจุบัน ชสอ. มียอดสินทรัพย์สภาพคล่อง ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2561 ได้แก่ เงินสด 172,361 บาท เงินฝากที่ชุมนุมสหกรณ์ 494.4 ล้านบาท และหลักทรัพย์ของรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน 1,899 ล้านบาท รวมเป็น 2,393.57 ล้านบาท เทียบกับยอดเงินฝากทุกประเภท ณ ทุกสิ้นวันที่ 75,422.48 ล้านบาท ทำให้ ชสอ. มีการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องไว้ 3.17% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 1%

UploadImage
นางประภาษร ทิพย์ดี รองผู้จัดการใหญ่ (สายธุรกิจ) ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด ( ชสอ. )

     สำหรับประเด็นหนี้เอ็นพีแอล นางประภาษรกล่าวว่า สหกรณ์มีเกณฑ์กำกับดูแลว่าหากผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนจะต้องกันสำรอง 20% หากผิดชำระเกิน 6 เดือนต้องกันสำรอง 50% และหากเกิน 1 ปีต้องกันสำรอง 100% อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาสมาชิกของ ชสอ. ไม่ได้ผิดชำระหนี้แต่อย่างใด โดยมีเพียง 4 รายเท่านั้นที่อาจจะเลิกสหกรณ์ไปและทำให้ต้องตามชำระหนี้ในภายหลัง โดยมีมูลหนี้ประมาณ 5.9 ล้านบาท ซึ่งทยอยชำระหนี้มาอย่างต่อเนื่องทุกเดือนแต่อาจจะน้อยกว่ายอดชำระหนี้เดิมในแต่ละงวด และทำให้ ชสอ. มีสัดส่วนเอ็นพีแอลเพียง 0.0067% เท่านั้น
     ด้านโครงสร้างการลงทุน ชสอ. มีสินทรัพย์ลงทุนอยู่ 25.69% ของสินทรัพย์รวม มูลค่า 30,528 ล้านบาท และที่เหลือจะเป็นเงินให้กู้ยืมแก่สมาชิกหรือสหกรณ์อื่น ซึ่งเป็นพันธกิจหลักของสหกรณ์ออมทรัพย์ โดยใน 30,528 ล้านบาทแบ่งเป็น พันธบัตรรัฐบาล 5.25% เป็นหุ้นกู้เอกชน 87.93%, พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ 5.25% กองทุนรวม 0.14% และกองทุนรวมเอกชน 0.76% และเฉพาะหุ้นกู้เอกชนพบว่ามีการลงทุนในระดับเครดิตเรทติ้ง A ประมาณ 2,476 ล้านบาท ระดับ AA+ ประมาณ 1,760 ล้านบาท ระดับ AA- ประมาณ 300 ล้านบาท A+ 9,528.5 ล้านบาท ระดับ A 7,138 ล้านบาท ระกับ A- 2,225.5 ล้านบาท โดยมีหุ้นกู้ของเอกชนอยู่รวมทั้งสิ้น 42 แห่ง
     “ตอนนี้ก็จะมีระดับ BBB+ อยู่ประมาณ 215 ล้านบาท จากเอกชน 2 แห่ง ซึ่งเพิ่งถูกลดระดับความน่าเชื่อถือเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ตอนนี้ ชสอ. ก็กำลังปรับโครงสร้างตรงนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การกำกับสหกรณ์อยู่ที่ให้ลงทุนได้ที่ระดับมากกว่า A- ขึ้นไปเท่านั้น ” นางประภาษรกล่าว
     ชสอ. แนะเกณฑ์กำกับควรเหมาะสมกับธุรกิจสหกรณ์
พล.ท. ดร.วีระ วงศ์สรรค์ ประธานกรรมการ ชสอ. กล่าวถึงแนวทางการปฏิรูประบบการบริหารจัดการและกำกับดูแลกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนของกระทรวงการคลัง ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา และเหลืออยู่ 3 ประเด็นที่กำลังหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และกรมส่งเสริมสหกรณ์ ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่าสำหรับเกณฑ์แรกคือหลักเกณฑ์ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องขั้นต่ำไม่ต่ำกว่า 6 % ของเงินรับฝากและเงินกู้ยืม ตนคิดว่าอาจจะสูงเกินไป เพราะจากข้อมูลพบว่ายอดสูงสุดที่มีการเบิกจ่ายจะอยู่ที่ประมาณ 0.46% ของเงินฝากและกู้ยืม ซึ่งเป็นปกติที่สหกรณ์ออมทรัพย์มักจะไม่มีธุรกรรมที่มากเท่ากับธนาคารและธุรกรรมขนาดใหญ่ส่วนใหญ่ก็จะมีการแจ้งล่วงหน้ามาก่อนอยู่แล้ว ดังนั้น หากกำหนดให้ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องประมาณ 3% คิดว่าเพียงพอแล้ว
     ขณะที่หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดประเภทและปริมาณหลักทรัพย์ที่สหกรณ์สามารถฝากหรือลงทุนโดยการลงทุนของสหกรณ์ต้องไม่เกิน 10% ของส่วนของผู้ถือหุ้นและมูลค่าการลงทุนในหุ้นกู้ของแต่ละบริษัทต้องไม่เกิน 5% ของปริมาณหุ้นกู้ของบริษัทนั้น และกำหนดความสามารถในการก่อหนี้ของสหกรณ์อัตราส่วนหนี้ต่อทุนไม่เกิน 1.5 เท่า คิดว่าอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนควรอยู่ที่ระดับ 2.5-3 เท่า เพื่อเปิดช่องให้สมาชิกมาฝากเงินได้มากขึ้น ขณะที่การลงทุนคิดว่าควรจะอยู่ที่ 1 เท่าน่าจะเหมาะสม และเห็นว่าในอนาคตหากมีเงินรับฝากมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากติดเพดานการปล่อยกู้สมาชิก อาจจะต้องผ่อนปรนเกณฑ์ให้สามารถลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ นอกจากที่กำหนดด้วย ซึ่งได้เริ่มต้นศึกษากันบ้างแล้ว
     และสุดท้ายสำหรับหลักเกณฑ์สหกรณ์ไม่ควรจ่ายเงินปันผลเกิน 80% ของกำไรสุทธิหลังหักเงินจัดสรรเป็นทุนสำรองและเงินบำรุงค่าสันนิบาตสหกรณ์ คิดว่าขึ้นอยู่กับความสามารถของสหกรณ์แต่ละแห่งมากกว่า ซึ่งมีความหลากหลายและต้องทบทวนให้ครบถ้วนเหมาะสมในทุกมิติของระบบสหกรณ์ไทย

UploadImage
พล.ท.ดร.วีระ วงศ์สรรค์ ประธานกรรมการ ชสอ.

แจงกรณีทุจริตสหกรณ์รถไฟอยู่ในกระบวนการ
     ผู้สื่อข่าวถามถึงประเด็นข่าวสหกรณ์ออมทรัพย์ครู สหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ และสหกรณ์ออมทรัพย์ของตำรวจเลย ว่าในกรณีของสหกรณ์ตำรวจเลยเป็นความผิดส่วนตัว เหมือนไปหลอกให้สมาชิกมาลงทุนกับตัวเอง แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องปัญหาของสหกรณ์แต่อย่างใด ขณะที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครู นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ รองอธิบดี กรมส่งเสริมสหกรณ์ ยืนยันว่าไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด และไม่แน่ใจว่ามีข่าวออกไปได้อย่างไร
     นายวิศิษฐ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ในกรณีของสหกรณ์ออมทรัพย์รถไฟนั้น ปัจจุบันได้เลือกตั้งคณะกรรมการสหกรณ์ชุดที่ 13 แล้ว และเตรียมรับมอบงานต่อจากคณะกรรมการชั่วคราวก่อนหน้านี้ โดยกำลังรอการตรวจสอบงบการเงินในปีล่าสุดให้เรียบร้อยก่อนจะเริ่มวางแผนดำเนินงานต่อไป ส่วนกระบวนการทำงานที่ผ่านมาได้เจรจากับเจ้าหนี้ทั้ง 14 รายให้ผ่อนผันเรื่องการชำระหนี้ลงบางส่วน ซึ่งเจ้าหนี้ก็ตกลงตามนั้น ส่วนคดีความทั้งทางอาญาและแพ่งอยู่ในขั้นตอนของการสอบสวนของ สน.ปทุมวัน ซึ่งกำลังขอข้อมูลเพิ่มเติมในรายละเอียด เช่น วันที่ที่ยักยอกเงิน จากใคร ไปให้ใคร แต่โดยรวมมีความเสียหาย 2,200 ล้านบาท ซึ่งถูกนำออกไปโดยกรรมการ 6 คน และอยู่ในรูปที่ดิน
     “ตอนนี้สมาชิกของสหกรณ์ที่มีปัญหาก็ยังมากู้เงินได้ แต่ก็มีสมาชิกบางคนอาจจะกลัวและพยายามถอนหุ้น คณะกรรมการก็พยายามทำความเข้าใจว่าถ้าไม่ไปด้วยกันก็อาจจะเสียหายกันทั้งหมดได้ ส่วนประเด็นเรื่องมีข้าราชการ 2 คนไปมีส่วนเกี่ยวข้องก็กำลังสอบสวนหาหลักฐานว่ามีส่วนเกี่ยวข้องเรื่องการถูกตั้งเป็นที่ปรึกษาหรือไม่ แต่เบื้องต้นข้าราชการทั้ง 2 คนก็บอกว่าไม่เคยเห็นหนังสือเหล่านี้ ก็อาจจะไปดูรายงานการประชุมต่อไปว่ามีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ ถ้าไม่มีหลักฐานก็คงกล่าวหาไม่ได้” นายวิศิษฐ์กล่าว
 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : 
thaipublica